รพ.ศิริราช และ Oxford Nanopore Technologies ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์แห่งแรกในอาเซียน - THE STANDARD
รพ.ศิริราช และ Oxford Nanopore Technologies ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์แห่งแรกในอาเซียน
ที่มา https://thestandard.co/siriraj-oxford-nanopore-tech/
HIGHLIGHTS
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจับมือ Oxford Nanopore Technologies ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab
เทคโนโลยีจีโนมิกส์ขั้นสูง เพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาเฉพาะบุคคล เช่น มะเร็ง และโรคติดเชื้อ สนับสนุนอุตสาหกรรมชีวสารสนเทศ การเกษตร และชีวเทคโนโลยี พร้อมพัฒนาแรงงานทักษะสูง
ต่อยอดสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการเกษตร ปศุสัตว์ และการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในภูมิภาค
เทคโนโลยีถอดรหัสจีโนมล้ำสมัยจาก Oxford Nanopore Technologies ช่วยให้วิเคราะห์พันธุกรรมได้รวดเร็ว แม่นยำ และครอบคลุมทุกภาคส่วน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความร่วมมืออย่างยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค กับ Oxford Nanopore Technologies จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีจีโนมิกส์สำหรับการแพทย์ในประเทศไทย
หมุดหมายสำคัญของวงการแพทย์ จีโนมิกส์ และเศรษฐกิจไทย
Anna Pearson อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่มีมายาวนาน โดยต่างเห็นศักยภาพในการพัฒนาด้านการแพทย์ให้ก้าวสู่ความเป็นสากล ซึ่งความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และอุดมศึกษา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก
Anna Pearson อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นแนวหน้าในการศึกษาด้านจีโนมเพื่อพัฒนาวงการแพทย์มาช้านาน ถือเป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนาการรักษาและการวิจัยด้านการแพทย์ ทำให้ป้องกันและรักษาแบบ Personalized มากขึ้น
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวด้านจีโนมมาก ความร่วมมือนี้จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยทั้งด้านมะเร็ง ความปลอดภัยด้านอาหาร และยังเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab
Zoe McDougall SVP Corporate Affairs แห่ง Oxford Nanopore Technologies กล่าวว่า ความร่วมมือจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาหลากหลายด้าน ทั้งด้านมะเร็ง ระบบพันธุกรรมมนุษย์ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกได้มากมาย
Zoe McDougall SVP Corporate Affairs แห่ง Oxford Nanopore Technologies
Lei Tong, Associate Director of Clinical Sales Specialists กล่าวว่า ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นครั้งนี้จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานข้ามสาขาวิชา เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาโลกให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการเห็นภาพใหญ่และศึกษาด้านจีโนมอย่างลึกซึ้ง สามารถถอดรหัสพันธุกรรมและลำดับจีโนมได้ในทุกความยาวและความเร็ว ทั้งยังมีการเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงได้ง่ายขึ้น
Lei Tong, Associate Director of Clinical Sales Specialists
‘จีโนมิกส์’ คืออะไร
จีโนมิกส์เป็นการศึกษาถึงจีโนมและรหัสพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต การนำความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพ เพื่อให้การรักษาโรคมีความแม่นยำและตรงกับแต่ละบุคคลมากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากการวิเคราะห์ลำดับเบสของดีเอ็นเอ
การใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ในการแพทย์เปรียบเสมือนการมีคู่มือส่วนตัวในการดูแลสุขภาพ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมมาช่วยในการวางแผนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จีโนมิกส์สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้การแพทย์และเศรษฐกิจไทย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนพอร์นี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมจีโนมิกส์ไทยไปสู่ระดับสากล
เทคโนโลยีของ Oxford Nanopore Technologies ช่วยพลิกโฉมการวิจัยด้านการแพทย์ การศึกษาด้านสุขภาพและการแพทย์ได้ในหลากหลายมิติ เช่น
โรคมะเร็ง
การถอดรหัสพันธุกรรมอย่างละเอียดสนับสนุนการรักษาเฉพาะบุคคล เพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
โรคติดเชื้อ
การถอดรหัสพันธุกรรมแบบเรียลไทม์ช่วยตรวจจับและวิเคราะห์เชื้อโรคอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
โรคหายาก
เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงจะถอดรหัสแบบยาว ช่วยระบุความผิดปกติที่วิธีการเดิมไม่สามารถตรวจพบ สนับสนุนการวินิจฉัยและพัฒนาการรักษาเฉพาะบุคคล
โรคที่มีความซับซ้อน
เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม การถอดรหัสพันธุกรรมช่วยพัฒนากลยุทธ์ป้องกันและรักษาเฉพาะบุคคล
เภสัชพันธุศาสตร์
ข้อมูลพันธุกรรมสนับสนุนการใช้ยาที่เหมาะสม ลดผลข้างเคียง และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ฉายภาพให้เห็นว่า พันธุกรรมมะเร็งในประเทศไทย เฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกมีมากเกือบ 4,600 ราย
การเข้ามาของ Oxford Nanopore Technologies จะทำให้การแพทย์ไทยสามารถระบุพันธุกรรมมะเร็ง ตรวจจับ และป้องกันการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วก่อนจะเกิดโรค เครื่องมือการถอดรหัสพันธุกรรมแบบยาวช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ โดยระบุการกลายพันธุ์ก่อนเกิดโรค เพิ่มความแม่นยำในการจำแนกสายพันธุ์ และวิเคราะห์ด้านจิโนมิกส์ได้กว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์ของ Oxford Nanopore Technologies ยังพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพและการแพทย์ แต่ยังรวมไปถึงการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ เช่น
ชีวสารสนเทศศาสตร์และการวิเคราะห์ข้อมูล
สามารถเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ด้วยโปรแกรมฝึกอบรมเฉพาะทาง เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงในการถอดรหัสพันธุกรรมและการวิเคราะห์ข้อมูลช่วยสร้างพื้นฐานด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการเติบโตของวงการจีโนมิกส์ในประเทศ
เกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้านพืช
โซลูชันการถอดรหัสพันธุกรรมช่วยวิเคราะห์จีโนมของพืชได้ละเอียดแม่นยำ ส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรค และปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
จีโนมสัตว์
การถอดรหัสพันธุกรรมช่วยสนับสนุนโครงการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ในปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อพัฒนาลักษณะที่ต้องการ ปรับปรุงสุขภาพสัตว์ และเพิ่มผลผลิต ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำฟาร์มสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
การพัฒนาการศึกษาและงานวิจัย
เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยสามารถดำเนินการวิจัยจีโนมขั้นสูง โดยมีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายและใช้งานสะดวก กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจีโนมิกส์และชีวสารสนเทศศาสตร์
การเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม
เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพด้านชีวเทคโนโลยี ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมนวัตกรรม ความร่วมมือนี้มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้จีโนมิกส์ในประเทศไทย
ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Siriraj Long-read Lab หรือ Si-LoL ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงในการถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูงจาก Oxford Nanopore Technologies ซึ่งเข้ามายกระดับการวิจัยการแพทย์ในหลากหลายภาคส่วน
การใช้เทคโนโลยีจาก Oxford Nanopore Technologies จะยกระดับทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการให้ข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และรวดเร็ว
ดร.ธิดาทิพย์ กล่าวถึงความสำเร็จหนึ่งจากการใช้เทคโนโลยีจาก Oxford Nanopore Technologies คือการให้ความร่วมมือในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีปฏิบัติการ ณ ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read Lab รวมถึงการถอดรหัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ใช้เวลาเพียง 16 ชั่วโมง และแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีของ Oxford Nanopore Technologies ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมอันรวดเร็วนี้ทำให้ Siriraj Long-read Lab สามารถนำข้อมูลไปทำแดชบอร์ดจีโนม SARS-CoV ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและ Oxford Nanopore Technologies ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับวงการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพของไทยสู่มาตรฐานสากล ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีจีโนมิกส์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และสิ่งแวดล้อม จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพของภูมิภาค โดยมีบริษัท ไบโอดีไซน์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย Oxford Nanopore Technologies ในประเทศไทย เป็นพันธมิตรสนับสนุนการนำเทคโนโลยีระดับโลกนี้มาประยุกต์ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์ไทย พร้อมสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
เยี่ยมชม Oxford Nanopore Technologies ผู้นำด้านเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูงได้ที่ www.nanoporetech.com
ทำความรู้จัก Siriraj Long-read Lab หรือ Si-LoL ได้ที่ https://www.longreadlab.com/
เยี่ยมชมบริษัท ไบโอดีไซน์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากบริษัท Oxford Nanopore Technologies ประจำประเทศไทย ได้ที่ https://www.biodesign.co.th/